การชี้แจงและการสอบสวนเกี่ยวกับสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ ของ กรณีสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2553

"เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวมาก เคยทำงานเป็นผู้พิพากษามาก็พึ่งเจอเป็นครั้งแรก เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต้องออกมาเคลียร์ [อธิบาย] เรื่องนี้ให้ชัดว่าเรื่องนี้หลุดออกมาได้อย่างไร แต่เชื่อว่าต้องเป็นคนใน คนนอกคงเข้าไปอัดคลิป [สิ่งบันทึกวีดิทัศน์] ไม่ได้"
สดศรี สัตยธรรม 17 ตุลาคม 2553[6]

ในวันเดียวกัน หลังมีการเผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์แล้ว วิรัช ร่มเย็น ได้ชี้แจงว่า บุคคลในสิ่งบันทึกวีดิทัศน์เป็นตนจริง แต่เรื่องเกิดขึ้นจากการที่ พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ได้ติดต่อมาทางวรวุฒิ นวโภคิน ว่ามีความประสงค์อยากพบ เพื่อพูดคุยและรับประทานอาหาร ที่ร้านอาหารฟู้ดดี ซอยหมู่บ้านปูนซิเมนต์ไทย ถนนประชาชื่น เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เวลา 14:00 น. วันที่ 7 ตุลาคม ตนเห็นว่าพสิษฐ์เป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงเกรงใจและมาพบตามมารยาท ไม่ได้แจ้งให้ชวน หลีกภัย ประธานคณะทำงานในคดีข้างต้น และไม่ได้แจ้งให้เพื่อนสมาชิกพรรคทราบเลย นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ามีการเตรียมกล้องสำหรับแอบถ่ายไว้อยู่แล้ว โดยตอนแรก พสิษฐ์นั่งหันหลังให้กล้อง ทำให้มองภาพไม่ชัด จึงย้ายที่มานั่งที่หัวโต๊ะเนื่องจากรู้มุมกล้องตั้งไว้ ซ้ำในการสนทนา พสิษฐ์ยังใช้คำถามนำด้วย ตนจึงเห็นว่าเป็น "...กระบวนการชั่ว..." อนึ่ง วิรัชยังได้แสดงความมั่นใจว่า สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อคดี[7] [8]

วันที่ 18 ตุลาคม 2553 บรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ ศาล ว่า ชัช ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งปลดพสิษฐ์พ้นจากตำแหน่ง และตั้งคณะกรรมการให้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องภายในสิบห้าวันแล้ว ในโอกาสนี้ ยังได้ชี้แจงว่า สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ตอนที่เกี่ยวกับ พลเอกเปรม ประธานองคมนตรี และชัช ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นั้น ความจริงแล้ว เป็นภาพการที่ พลเอกเปรม มอบรางวัลนักกฎหมายดีเด่นของมูลนิธิสัญญาธรรมศักดิ์ แก่ชัช ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[9] วันเดียวกันนั้น ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความคิดเห็นว่า "เรื่องนี้เป็นการใส่ไคล้กันมากไป เรื่องเหล่านี้วิญญูชนควรพิจารณาให้รอบคอบ นับหนึ่งถึงร้อยก่อนจะเชื่อ...เสียงที่ออกมาก็ไม่เห็นจะมีอะไร เราต้องฟังหูไว้หู...ผมเชื่อมั่นจริยธรรมของตุลาการทั้งเจ็ดคน การจะทำอะไรสองแง่สองมุมคงไม่มี"[10] ขณะที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธว่า สิ่งบันทึกวีดิทัศน์อันเป็นปัญหานี้ มิใช่ผลงานของพรรคแต่อย่างใด[11]

อนึ่ง หลังจากที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญสั่งปลดพสิษฐ์พ้นจากตำแหน่งแล้วนั้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรายงานว่า พสิษฐ์ได้ใช้หนังสือเดินทางราชการ เดินทางโดยสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคไปยังฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2553 แล้ว และบัดนี้ยังมิได้กลับประเทศไทย[12] ขณะที่ เทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า "...สงสัยว่าเดินทางไป [ฮ่องกง] ทำไม เพราะฮ่องกงเป็นที่พักพิงของใครบางคน..."[13]

วันที่ 20 ตุลาคม 2553 พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งคณะทำงานสำหรับสอบสวนในส่วนของตน มีเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ สมาชิกพรรค เป็นประธาน เมื่อได้ข้อเท็จจริงเสร็จแล้วจะส่งให้หัวหน้าพรรคพิจารณาโทษผู้เกี่ยวข้องต่อไป[14]

ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม 2553 จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย เสนอให้ ชัช ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ขณะที่ชัชกล่าวว่า "...ไม่มีอะไรต้องลาออก เราปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ เรื่องนี้ไม่มีผลต่อการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลและการกดดัน"[15]

แหล่งที่มา

WikiPedia: กรณีสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2553 http://www.nationmultimedia.com/home/2010/10/18/po... http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%...